บิณฑบาตไร้ขยะ ณ วัดป่าบุก


ใส่บาตรรักษ์โลกภาพดัดแปลงจาก MGR Online 

การใส่บาตรด้วยอาหารปรุงสำเร็จรูป หรืออาหารที่ซื้อจากร้านสะดวกซื้อให้กับพระสงฆ์ที่เดินบิณฑบาตในตอนเช้า (หรือแม้กระทั่ง นั่งรอบิณฑบาต) นั้นคงเป็นสิ่งที่ชาวพุทธในกรุงเห็นกันจนชินตา ด้วยวิถีชีวิตที่เร่งรีบในเมือง แม้กระทั่งการทำบุญก็ต้องการความรวดเร็ว และสะดวกสบาย ถุงพลาสติก จึงกลายมาเป็นทางออก

บริเวณไหนที่มีการรับบาตร จะพบร้านรวงริมทางขายชุดอาหารสำหรับใส่บาตรขนาดต่างๆ ทุกอย่างบรรจุอยู่ในถุงพลาสติก ถุงแล้วถุงเล่า หลายต่อหลายชั้น เพื่อความ “ง่าย” “สะดวกสบาย” แต่นำมาซึ่งปริมาณขยะมหาศาล 

ใส่บาตรรักษ์โลก
ภาพประกอบ: MGR Online

แต่สำหรับชุมชนบ้านป่าบุกแล้ว การบิณฑบาตของพระวัดป่าบุกนั้นเป็นการบิณฑบาตแบบ Zero Waste หรือ ขยะเป็นศูนย์ เพราะการรับบาตรที่นี่นั้นไม่เหมือนใคร โดยพระสงฆ์จะยกเอาตู้กับข้าวขนาดเล็กขึ้นบนรถเข็นพร้อมจานชามสำหรับใส่อาหารออกไปบิณฑบาตรทุกวันตอนเช้า ชาวพุทธในชุมชนป่าบุกได้ทำทั้งบุญ ทั้งอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมไปพร้อมๆ กัน


ใส่บาตรรักษ์โลก กับตู้กับข้าวตู้นี้ มีอายุกว่า 20 ปีแล้ว


วัดป่าบุก ตั้งอยู่ที่ ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นวัดเล็กๆ ในชุมชน ที่มีพระสงฆ์จำพรรษาอยู่เพียง 2 รูป คือ พระครูปลัดพิภพ กนตธมโม เจ้าอาวาส และพระสมุห์ณัฐธีร์ สุขวฑฒโก รองเจ้าอาวาส 

พระบิณฑบาตพร้อมตู้กับข้าว
ภาพประกอบ: MGR Online

โดยทุกวันเวลา 7 โมงเช้า พระทั้งสองรูปจะออกบิณฑบาตพร้อมกับตู้กับข้าวและจานชาม เพื่อลดปริมาณกล่องโฟม และถุงพลาสติกที่ใช้บรรจุอาหาร ซึ่งการบิณฑบาตรไร้ขยะนี้ก็ทำมาอย่างต่อเนื่องกว่า 20 ปีแล้ว 

ใส่บาตรรักษ์โลก
ภาพประกอบ: MGR Online

นอกจากนี้ ยังแบ่งสายการรับบาตรออกเป็น 4 สาย ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันไปวันละสายเท่านั้น เพื่อไม่ให้ปริมาณอาหารมากเกินไปจนต้องเหลือทิ้ง เป็นการลดปริมาณขยะ และช่วยให้ชาวบ้านประหยัดอีกด้วย 


ป่าบุก ชุมชนรักษ์โลก


พระทั้งสองรูปยังปลูกจิตสำนึกให้คนชุมชนร่วมกันลดขยะ แยกขยะ และประยุกต์วัสดุเหลือใช้ต่างๆ เพื่อนำกลับมาใช้ในชีวิตประจำวันอีกด้วย 

ชุมชนรักษ์โลก
คนภายในชุมชนให้ความร่วมมือในการแยกขยะ
ภาพประกอบ: MGR Online

ความสะอาดเรียบร้อยภายในชุมชนที่เกิดจากจิตสำนึกรักสิ่งแวดล้อม

ใส่บาตรรักษ์โลก
ภาพประกอบ: MGR Online

ชาวบ้านป่าบุกจะมีการแยกขยะในทุกๆ บ้าน ขยะที่เป็นเศษอาหารต่างๆ ก็นำกลับมาทำเป็นปุ๋ย ส่วนขยะที่เป็นพลาสติก เช่น ซองน้ำยาปรับผ้านุ่ม ก็นำมาทำเป็นช่อดอกไม้สำหรับงานกฐิน ขยะอย่างยางรถยนต์ก็ถูกนำมาเปลี่ยนเป็นกระถางต้นไม้

วัสดุเหลือใช้
ภาพประกอบ: MGR Online

ในส่วนของกิจกรรมศาสนกิจต่างๆ ทางวัดยังชี้แนะให้ปรับเปลี่ยนเพื่อสร้างผลดีต่อสิ่งแวดล้อม เช่น การจัดเลี้ยงอาหารในงานต่างๆ ก็ให้เน้นเป็นอาหารจานเดียว แทนที่จะจัดเป็นขันโตกตามวัฒนธรรมทางภาคเหนือ เพราะอาหารจะเหลือ และถือเป็นการสิ้นเปลืองอีกด้วย 

ไม่ใช่แค่วัด หรือพระเท่านั้นที่มีจิตใจรักในสิ่งแวดล้อม เพราะพระทั้งสองรูปได้ส่งต่อแนวความคิดนี้ไปสู่ชุมชนด้วย และเนื่องจากความสามัคคีของทุกคน พลังในการสร้างสรรค์สิ่งดีๆ แบบนี้จึงเกิดขึ้น ถือว่าเป็นอีกหนึ่งชุมชนตัวอย่าง หากมีชุมชนแบบนี้เพิ่มขึ้น รับรองว่าปัญหาขยะจะกลายเป็นปัญหาเล็กๆ ไปเลย