สาวข้ามเพศเชื้อสายไทยคว้ารองอันดับ 3 จากเวทีมิสยูนิเวิร์สประเทศนอร์เวย์

สาวข้ามเพศไทยเข้ารอบสุดท้ายมิสยูนิเวิร์สนอร์เวย์


ภาพดัดแปลงจาก: Thailandstidende

เมื่อเวทีนางงามระดับโลกอย่างมิสยูนิเวิร์ส (Miss Universe) เปิดโอกาสให้กับสาวข้ามเพศที่ได้การรับรองให้เป็นนางสาวตามกฎหมายของแต่ละประเทศสามารถเข้าประกวดได้ หญิงข้ามเพศหลายๆ คนก็ได้ก้าวมาสู่วางการประกวดมากมาย  

ล่าสุดสื่อไทยฉายสปอตไลต์ไปที่หญิงชาวนอร์เวย์สายเลือดไทย Eirin Grinde Tunheim หรือ เอริน ที่เพิ่งคว้าตำแหน่งรองอันดับสามจากเวที มิสยูนิเวิร์สนอร์เวย์ 2019

เอรินเป็นสาวข้ามเพศวัย 26 ปีที่ย้ายจากจังหวัดบุรีรัมย์ไปอยู่ที่ประเทศนอร์เวย์เมื่อ 13 ปีที่แล้ว โดยตอนนี้เธอได้รับการรับรองว่าเป็นเพศหญิงและใช้คำนำหน้าว่า นางสาว ตามกฏหมายของประเทศนอร์เวย์ ทำให้เธอสามารถเข้าร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์สนอร์เวย์ในปีนี้

เอรินใช้ผ้าไหมมัดหมี่ไทยตัดเป็นชุดในการเข้าประกวด
ภาพประกอบ: Miss Norway Organization


เธอจะต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศต่อไป


หลังจบการประกวด เอรินได้โพสต์บนหน้าเพจเฟซบุ๊คของเธอที่ชื่อว่า Eirin Grinde Tunheim เป็นภาษานอร์เวย์ เพื่อพูดถึงประสบการณ์และอุปสรรคต่างๆ ที่เธอต้องต่อสู้ฝ่าฟันในฐานะหญิงข้ามเพศ ตลอดจนให้กำลังใจบุคคลข้ามเพศคนอื่นๆ ให้มีความกล้าที่จะแสดงความเป็นตัวเองออกมาให้สังคมได้เห็น พร้อมกับบอกว่าตัวเธอเองนั้นมีความภาคภูมิใจที่เป็นหญิงข้ามเพศ ทั้งนี้ เอรินปิดท้ายโพสต์ของเธอด้วยคำสัญญาว่าเธอจะต่อสู้และเป็นแรงบันดาลใจให้คนที่มีความหลากหลายทางเพศต่อไป  

แม้เอรินจะไม่ได้คว้ามงกุฎนางงามจักรวาลแห่งประเทศนอร์เวย์มาครอบครอง แต่หลังจากนี้เธอยังมีภารกิจที่ต้องศึกษาต่อในสาขาทันตแพทย์รอเธออยู่ ซึ่งนับว่าเป็นเส้นทางที่สำคัญและพิสูจน์ให้เห็นถึงความสามารถและความพยายามของเธอได้อย่างเด่นชัด

เอรินโพสต์ภาพเส้นทางการเปลี่ยนแปลงตัวเองจากชายเป็นหญิง
ภาพประกอบ: Eirin Grinde Tunheim

ในระหว่างการประกวด เรื่องราวของเธอยังได้รับการพูดถึงในหนังสือพิมพ์ Dagbladet ซึ่งเป็นหนึ่งในหนังสือพิมพ์ที่ใหญ่และมีชื่อเสียงที่สุดของประเทศนอร์เวย์

ภาพดัดแปลงจาก: Eirin Grinde Tunheim


หญิงข้ามเพศผู้ครองตำแหน่งมิสยูนิเวิร์สจากสเปน


ในการประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018 ซึ่งประเทศไทยรับหน้าที่จัดงานเมื่อปลายปีที่แล้ว หนึ่งในบุคคลที่เป็นที่จับตามองมากที่สุดคือตัวแทนผู้เข้าประกวดจากประเทศสเปน แองเจล่า ปอนเซ่ หญิงข้ามเพศคนแรกที่ได้รับคัดเลือกให้เป็นตัวแทนประเทศเพื่อเข้าแข่งขันระดับโลก ท่ามกลางเสียงชื่นชมและวิพากษ์วิจารณ์มากมาย แต่กระนั้น เธอก็ยังยืนหยัดท่ามกลางกระแสทั้งบวกและลบอย่างมั่นคงเพราะมีครอบครัวที่เข้าใจและให้กำลังใจเธอ

แม้ว่าแองเจล่าจะไม่ได้รับตำแหน่งใดๆ แต่การปรากฏตัวของเธอบนเวทีนางงามที่แต่เดิมเป็นพื้นที่ของผู้หญิงตามเพศกำเนิดนั้น เปรียบเหมือนสัญลักษณ์แห่งความหวังและการยอมรับของสังคม ที่มองเห็นเพียงหญิงสาวคนหนึ่งที่ไม่จำเป็นต้องมีคำว่า “ข้ามเพศ” ต่อท้าย

ภาพประกอบ: Time

คำพูดประโยคหนึ่งของแองเจล่าในวิดีโอที่ถูกเปิดขึ้นในการประกวดยืนยันว่าการปรากฏตัวของเธอบนเวทีนี้ เป็นมากกว่าเพียงการแข่งขัน เพราะมันคือการเป็นตัวแทนของหญิงข้ามเพศทุกคนที่ต้องการได้รับการยอมรับในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง

 “ฉันไม่จำเป็นต้องคว้ามงกุฎมิสยูนิเวิร์ส ฉันแค่ต้องมาอยู่ที่นี่”


กระแสการเรียกร้องเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อในประเทศ


สิ่งที่แองเจล่าและเอรินมีเหมือนกันคือการได้รับการรับรองทางกฏหมายว่าเป็นเพศหญิง และมีคำนำหน้าชื่อเป็น “นางสาว” ทำให้พวกเธอสามารถเข้าแข่งขันในเวทีมิสยูนิเวิร์ส ที่มีกฏว่าผู้เข้าแข่งขันจำเป็นต้องมีเพศทางกฏหมายเป็นเพศหญิง

แน่นอนว่าในเมืองไทยยังไม่มีการให้สิทธิพลเมืองในการเปลี่ยนแปลงเพศและคำนำหน้าชื่อทางกฏหมาย

อย่างไรก็ตาม ยังมีหญิงข้ามเพศชาวไทยจำนวนมาก ที่ได้ออกมารณรงค์ให้มีการอนุญาตเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อจากได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ ซึ่งข้อเรียกร้องดังกล่าวอยู่ในรูปแบบ ร่าง พ.ร.บ. รับรองสิทธิหลังการแปลงเพศ ซึ่งเปิดให้ผู้ที่เห็นด้วยร่วมลงชื่อผลักดันในเว็ปไซต์ Change.com โดยมีความต้องการทั้งหมด 10,000 รายชื่อ และในขณะเดียวกัน ก็ได้มีการเสนอร่างเข้าสภาเพื่อเข้าสู่กระบวนการยื่นเสนอเป็นกฎหมายต่อไป

ภาพประกอบ: Voice TV

ทั้งนี้ หาก พ.ร.บ. ฉบับนี้กลายมาเป็นกฏหมายบังคับใช้ ก็จะเป็นการช่วยทำให้สิทธิในการใช้ชีวิตของหญิงข้ามเพศมีความเสมอภาคกับคนอื่นๆ และลดความยุ่งยากหลายประการในชีวิต อาทิ การถูกสอบปากคำที่ด่านตรวจคนเข้าเมือง ปัญหาการยืนยันตัวตนด้านธุรกรรม และอื่นๆ อีกมาก โดยผู้อ่านสามารถศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับร่าง พ.ร.บ. ฉบับนี้ได้ ที่นี่

 ภาพประกอบ: Change.com

การต่อสู้เพื่อความเท่าเทียมทางเพศไม่ใช่เรื่องของคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เป็นเรื่องของทุกๆ คนในฐานะเพื่อนร่วมสังคม ที่ควรส่งเสริมสิทธิขั้นพื้นฐานและศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของกันและกัน เหมือนกับที่เอรินและแองเจล่าได้รับการยอมรับในสิ่งที่พวกเธอเป็น – ในฐานะผู้หญิงคนหนึ่ง 

Eddie Jirayu: